ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง

Last updated: 17 ธ.ค. 2566  |  5929 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง

บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9

     นับเป็นข่าวที่ประชาชนชาวจังหวัดภาคใต้ ได้รับความปิติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ที่ทางราชการแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดภาคใต้ ในเดือนมีนาคม 2502 กล่าวโดยเฉพาะอำเภอกระบุรี ได้มีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรและเสวยพระกระยาหารกลางวัน ในวันที่ 7 มีนาคม 2502

     เวลา 11:45 น. ถึงเวลา 14:15 น. เป็นลำดับที่ 2 จากจังหวัดชุมพร และมีพระราชกรณียกิจพิเศษ โดยจะทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อที่ศิลาจารึก ซึ่งทางอำเภอจัดทูลเกล้าฯ ถวาย ณ เขตจังหวัดชุมพร - ระนอง อีกด้วย ดังนั้นกิจกรรมที่อำเภอต้องรับผิดชอบและจัดทำโดยนายอำเภอกระบุรี เป็นประธานกรรมการและเป็นผู้อำนวยการรับเสด็จฯ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายพันธุ สายตระกูล (รายละเอียดการเตรียมการต่างๆยังมีอีก แต่ละไว้เพื่อความสะดวกในการอ้างถึงบทความ)
       ลงวันที่ 16 มกราคม 2502 และกำหนดลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2502

คำกราบบังคมทูลถวายพระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดระนอง

               เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2502 ณ ที่ต่อเขตจังหวัดระนอง - ชุมพร


ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

     ข้าพระพุทธเจ้านายพันธุ สายตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ด้วยในการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดระนอง ตามโบราณราชประเพณี

     ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ

     จากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศิลาจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดระนอง เมื่อปี พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และ สก. ในแท่นหินพระราชทานไว้เป็นพระอนุสรณ์ด้วย หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จฯ ไปยังที่ว่าการอำเภอกระบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากซุ้มต่อเขตประมาณ 29 กิโลเมตร

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และ สก. ในแท่นหินพระราชทานไว้เป็นพระอนุสรณ์ด้วย หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จฯ ไปยังที่ว่าการอำเภอกระบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากซุ้มต่อเขตประมาณ 29 กิโลเมตร

     เวลา 11:45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งมาถึงอำเภอกระบุรี เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถพระที่นั่งมาถึงอำเภอกระบุรี และเสด็จลงจากรถพระที่นั่งถึงหน้าพลับพลา นายประเสริฐ กาญจนดุล ได้เบิกตัวนายอำเภอกระบุรี เข้าเฝ้าฯ นายอำเภอได้ทูลเกล้าฯ ถวายหีบเงินถมฝีมือเมืองนครศรีธรรมราช แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางเปศล ทองศิริ ภรรยานายอำเภอ ทูลเกล้าฯ ถวายผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช นายนิภา สุทธิสุวรรณ ทูลเกล้าฯ ถวายช่อดอกไม้แด่พระบรมราชินี ตามลำดับ

     นายอำเภอได้นำเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรที่มารับเสด็จ ส่วนมากพระองค์มีพระราชดำรัสถามเกี่ยวกับอาชีพ ความเป็นอยู่ การศึกษา แม้่าราษฎรที่เข้าเฝ้าฯ จะทูลเป็นภาษาบ้านนอกอย่างสามัญ ทั้งสองพระองค์ทรงฟังเข้าใจเนื้อถ้อยกระทงความดี พระบรมราชินีนาถทรงยิ้มละไมตลอดเวลา และมักรับสั่งกับราษฎรว่า "ขอบใจ" ตลอดเวลา และขณะเสด็จผ่านประชาชนนั้น ประชาชนได้ทูลเกล้าฯถวายสิ่งของตามสมควร ในระหว่างที่เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับนายอำเภอกระบุรีว่า "ที่นี่คนเรียบร้อยมาก" และได้รับสั่งกับคณะครูประมาณ 5 นาที

     เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วจึงได้เสด็จฯ ขึ้นเพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน บนที่ว่าการอำเภอกระบุรี และทรงพักผ่อนอิริยาบถเป็นการส่วนพระองค์ จนถึงเวลา 14:00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเสด็จไปยังจังหวัดระนองต่อไป เพื่อทอดพระเนตรเหมืองแร่ของบริษัท ไซมิสทีนซินดิเคต จำกัด ที่ตำบลบางนอน อำเภอเมืองระนอง 

     ที่เหมืองแร่แห่งนี้ได้มีกรรมกรและเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติ มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทคับคั่ง 

     นายวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหกิจ ได้ถวายคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่ วิธีการขุดแร่และอัญเชิญขึ้นไปทอดพระเนตรบนเรือขุดแร่ที่กำลังทำงาน

     ได้ประทับทอดพระเนตรการขุดแร่อยู่ประมาณ 15 นาที จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

     เมื่อเสด็จถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เพื่อเสวยพระสุธารส และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์จากสีเหลือง เป็นสีฟ้า เวลา 16:30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ไปทรงวางพวงมาลา ณ สุสานพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง

     ผู้สืบตระกูล ณ ระนอง และบรรดาเครือญาติคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายการรับเสด็จฯ นอกจากนี้ยังมีประชาชนมาคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของเป็นจำนวนมาก

     พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) และครอบครัวแห่งตระกูล ณ ระนอง ได้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ และได้ทูลเกล้าถวายนกประดิษฐ์ด้วยมุก แด่ทั้งสองพระองค์ หลังจากที่ทรงวางพวงมาลาหน้าสุสานแล้ว

     ขออนุญาติเจ้าของภาพ จากเฟสบุ้ค การจัดทำหนังสือ 150 ปีเมืองระนองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่มาคอยเฝ้าชมพระบารมี ณ บริเวณ โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร โรงเรียนประจำจังหวัดระนอง (ปัจจุบันสถานที่นี้คือ โรงเรียนสตรีระนอง)

     เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ได้เสด็จฯ ขึ้นพลับพลารับเสด็จฯ ภายในบริเวณโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร ถนนดับคดี อ.เมืองระนอง จังหวัดระนอง นายพันธุ สายตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กราบบังคมทูล นำข้าราชการพร้อมด้วยภริยา และราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ สนามหน้าโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2502 เวลา 17:00 น.

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระกระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและพสกนิกรชาวจังหวัดระนอง เมื่อสิ้นพระกระแสพระราชดำรัส ราษฎรต่างก้มลงกราบต่อเบื้องหน้าพระพักตร์โดยพร้อมกัน นับเป็นภาพที่น่าดูมาก

     จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ลงเยี่ยมราษฎรตามแนวเส้นทางที่กำหนด ราษฎรบางคนลอดเส้นกั้นเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท บางคนยกพระหัตถ์ขึ้นทูนศรีษะของตน

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลูบศรีษะเด็กๆและทรงมีพระราชปฎิสันถารหยอกล้อด้วยความเอ็นดู นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น บางคนอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจุมพิตพระหัตถ์ ซึ่งพระองค์ท่านก็พระราชทานด้วยพระเมตตา 

     นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าจากเมืองมะริดข้ามแดนมาคอยเฝ้าชมพระบารมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว จึงได้เสด็จฯ กลับจวนผู้ว่าราชการ เมื่อเวลา 18:15 น.

     หลังจากเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว ได้เสด็จฯ ลงทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียนและข้าราชการจังหวัดระนอง มีรำเบิกโรงและระบำร่อนแร่เป็นต้น เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้วจึงได้เสด็จฯ ขึ้นที่ประทับ

     ตามหมายกำหนดการวันที่ 8 มีนาคม 2502 เวลา 7:00 น. เสด็จพระราชดำเนินออกจากจังหวัดระนองไปจังหวัดพังงา และภูเก็ต โดยเสด็จผ่านตำบลหงาว และระหว่างทางทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในทิวทัศน์อันสวยงามตามเส้นทางระหว่าง "ระนองกับกะเปอร์" เป็นอย่างมาก

     “ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”


ที่มา : เรืองราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง โดย คุณธนกร สุวุฒิกุล  นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง และอาจารย์พิเศษวิทยาลัยชุมชนระนอง

นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในกิจกรรม : พิธีถวายความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ โรงยิมเนเซียม อบจ.ระนอง

ภาพถ่าย :Facebook:การจัดทำหนังสือ 150 ปีเมืองระนอง และ Facebook: ร้อยจุดห้า อสมท ระนอง  ในหลวง-ราชินี เสด็จเยี่ยมราษฎรระนอง


 Cr. Youtube : หอภาพยนต์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้