Last updated: 17 ธ.ค. 2566 | 4784 จำนวนผู้เข้าชม |
พระราชวังรัตนรังสรรค์ จำลอง
เป็นสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จประพาสและประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2433) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2452) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ.2471) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระนอง ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขานิเวศน์คีรี (ใกล้ศาลากลางจังหวัดระนองหลังเก่า) ตำบลเขานิเวศน์ พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียนทอง สิ่งที่จัดแสดงภายในพระราชวังฯ ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชั้น3) ห้องพระราชินี (ชั้น 2 ) มีจำนวน 6 ห้อง อาคารทรงแปดเหลี่ยม อาคารท้องพระโรง และสะพานเชื่อมอาคารที่ประทับกับอาคารแปดเหลี่ยม
ตำนานพระที่นั่งรัตนรังสรรค์
พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นพระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนไม้ ปั้นหยา ขนาดใหญ่ เดิมตั้งอยู่บนยอดเขานิเวศน์คีรี ถูกสร้างเพื่อเป็นสถานที่ประทับแรมของพระเจ้าแผ่นดินคราเมื่อเสด็จประพาสเมืองระนองถึงสามพระองค์ ดังนี้
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ. 2433 (หรือ ร.ศ.109) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองแหลมมลายู ระยะทางที่เสด็จไปครั้งนั้น ทรงเรือสุริยมณฑล (ลำแรก) เป็นเรือพระที่นั่งจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองชุมพร จากนั้นได้เสด็จทรงช้างพระที่นั่งทางสถลมารคจากเมืองชุมพรข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่เมืองตระบุรี เพื่อเสด็จตรวจหัวเมืองชายทะเลในพระราชอาณาเขต นับเป็นครั้งแรกที่ได้เสด็จมาถึงจังหวัดระนอง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ กำหนดแผนที่ทำเรือนไม้บนเขาโดยใช้เครื่องไม้จริง และพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) เจ้าเมืองระนองขณะนั้น สร้างพลับพลาถวายเป็นที่ประทับบนยอดเขา ซึ่งได้เสด็จประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เป็นเวลา 3 ราตรี ระหว่างวันที่ 23 - 25 เม.ย. พ.ศ.2433
ต่อมาพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ได้ชำรุดทรุดโทรมลง ในสมัยพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คออยู่หงี่ ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองระนอง พ.ศ.2433 - 2460 จึงได้ร่วมกับสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ปรับปรุงและดัดแปลงพระที่นั่งใหม่ โดยสร้างเป็นรูปเรือนตกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว หันหน้ามุกไปทางด้านทิศตะวันตกและประดับตราพระครุฑพ่าห์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2444 แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางเมืองระนองเรื่อยมา
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จฯเมืองระนองครั้งแรก คราวประพาสเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 เสด็จฯประทับแรม 4 ราตรี ระหว่างวันที่ 16-19 เม.ย.2452
ครั้งที่สอง ทรงเสด็จเมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จฯเยี่ยมหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก เสด็จฯ ประทับแรม 3 ราตรี ระหว่าง 17 - 19 เม.ย.2460
รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในคราวเสด็จฯ ประพาสเยี่ยมหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันตก เสด็จฯประทับแรม 1 ราตรี ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2471
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2507 สมัยที่ พ.ต.อ.บุญณรงค์ วัฒฑนายน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้มีการรื้อถอนองค์พระที่นั่ง เพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัด (อาคารปัจจุบัน บนเขานิเวศน์คีรี) โดยวางศิลาฤกษ์ในวันอาทิตย์ ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2507 พระที่นั่งรัตนรังสรรค์จึงสูญหายไปจากจังหวัดระนองตั้งแต่บัดนั้น กระนั้นยังคงมีร่องรอยเป็นบันไดและบริเวณให้เห็น ทางจังหวัดจึงได้อนุรักษ์ไว้ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2520
ในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสิน 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 ทางจังหวัดจึงได้ค้นคว้าหลักฐานภาพถ่ายโดยขอความร่วมมือจากกรมศิลปากรให้คำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบความถูกต้องและจำลองพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ย่อส่วน 1:100 ตั้งแสดงไว้บริเวณชั้นล่างของศาลากลางจังหวัดระนอง เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมพระที่นั่งที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสืบไป
พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ หรือ พระราชวังรัตนรังสรรค์ แห่งนี้ เป็นตึกไม้ที่เป็นทรงยุโรป ผสมผสานศิลปะไทย สร้างโดยไม้สักทอง และไม้ตะเคียนทอง ประกอบไปด้วย เริ่มจากทางอาคารทางด้านขวาสุดเป็นอาคารท้องพระโรง ภายในจะแสดงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ซึ่งเรียกว่า “พระราชอาสน์เบญจราชกกุธภัณฑ์” ซึ่งพระราชอาสน์องค์นี้ได้จำลองมากจากพระราชอาสน์ที่มีการแกะสลักลายของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า โดยอัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎไว้ที่ส่วนยอด พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรณ์และพระแส้จามรี ประกอบด้านซ้ายและขวา และพนักที่ท้าวพระหัตถ์เป็นรูปพัดวาลวิชนี ฉลองพระบาทเชิงงอนประดับลายไว้ที่ส่วนขาของพระราชอาสน์ ช่างได้สลักลายลงในเนื้อไม้อย่างประณีตและงดงาม โดยได้มีพระบรมราชานุญาตให้มีการจำลองพระราชอาสน์นี้เพียงสององค์ คือ องค์แรกอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม และอีกองค์ประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงพระราชวังรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง นอกจากนี้ภายในท้องพระโรงยังแสดงแผนที่และวีดีทัศน์ เกี่ยวกับการเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ของพระเจ้าอยู่หัวรัลกาลต่างๆ อีกด้วย
อาคารถัดมาคือโถงกลางซึ่งมีลักษณะสามชั้นด้วยกัน โดยชั้นบนสุดเป็นห้องพระบรรทมของพระมหากษัตริย์ภายในประกอบไปด้วย พระแท่นบรรทม (เตียง) สไตล์ยุโรป โต๊ะเครื่องแป้ง กระจกและเครื่องใช้ มีหน้าต่างที่สูงมาก ที่ทำเช่นนี้เพราะป้องกันความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ ชั้นกลาง เป็นห้องพระบรรทมสำหรับพระเทวี (พระราชินี) มีพระแท่นบรรทมสองเตียง อ่างอาบน้ำ โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นการตกแต่งสไตล์ไทยๆ และชั้นล่างสุดเป็นส่วนที่ให้โขลน (หรือคนรับใช้) เป็นที่พัก โดยห้องนี้จัดแสดงพระที่นั่งรัตนรังสรรค์จำลอง ที่มีอาคารประกอบครบถ้วนตามที่มีมาสมัยพระยารัตนเศรษฐีสร้าง ตู้แสดงเครื่องใช้โบราณ
ชั้นสองจะมีส่วนที่เป็นสะพานทอดยาวไปจรดอาคารแปดเหลี่ยมซึ่งอยู่ทางซ้ายสุดของอาคาร ที่นี่สมัยก่อนจะเป็นห้องทรงงาน ของพระมหากษัตริย์ มีโต๊ะทรงพระอักษรแสดง โดยชั้นบนสุดจะเป็นสามารถมองออกจากนอกหน้าต่างเพื่อชมวิวทิวทัศน์ตัวเมืองระนองได้ ชั้นกลางจัดแสดงภาพวีดีทัศน์เกี่ยวกับประวัติของเจ้าเมืองระนอง ท่านคอซูเจียง หรือพระยาดำรงค์สุจริตมหิศรภักดี ท่านคอซิมก็อง พระยารัตนเศรษฐี ท่านทั้งสองเป็นอดีตเจ้าเมืองระนอง และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เทศาภิบาลมลฑลภูเก็ต ซึ่งเป็นลูกชายของท่านคอซูเจียง ซึ่งทั้งสามท่านได้สร้างความเจริญและมีคุณูปการต่อจังหวัดระนองอย่างแท้จริง นอกจากนี้มีจัดแสดงลูกปัดโบราณ ซึ่งได้รับการบริจาคมาจากชาวระนองอีกด้วย
หมายเหตุเมืองระนอง
อดีตพระราชวังรัตนรังสรรค์ หรือปัจจุบันคืออาคารศาลากลางจังหวัดระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 39 ณ วันที่ 27 เม.ย. 2520 โดย นายเดโช สวนานนท์ อธิบดีกรมศิลปากร (อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔)
บริเวณ เนินประวัติศาสตร์ เล่ม 119 ตอนพิเศษ 1194 ประกาศ วันที่ 4 ธ.ค. 45
ข้อมูลจากหนังสือ: ประวัติศาสตร์เมืองระนอง ย้อนรอยเสด็จประพาส โดย จังหวัดระนอง หน้า 55
Rattana Rangsan Thorn Hall
Built in remembrance of the visits by King Chulalongkorn (Rama V) in 1890, King Vijiravudh (Rama VI) in 1909 and King Prajadhipok (Rama VII) in 1982, it is one of Ranong's important tourist attractions, located at the foot of Niwet Khiri hill (Close to the Old city hall) in Tambon Niwet. Constructed with Teak wood and Malabar ironwood, the palace exhibits King Rama V's bedroom (on 3rd floor), 6 queen chambers (on 2nd floor), octagonal building, throne hall, a bridge linking the royal residence with the octagonal building.
13 ต.ค. 2565
26 มิ.ย. 2567
1 ก.ย. 2565
24 ส.ค. 2565